Knowledge Management

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผนวกกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้บริการ เป็นสิ่งกำหนดทิศทางของการพัฒนาการให้บริการของห้องสมุด ให้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและก้าวทันโลกที่กำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นิยามของ ‘ห้องสมุด’ ในปัจจุบัน จึงไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นสถานที่ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวม จัดระบบ เพื่อให้บริการสื่อทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ เพียงอย่างเดียว

สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นอีกหนึ่งห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่มีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ทั้งในด้านการยกระดับบริการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น และในด้านการอำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

ในบทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘ต้นไม้ 5 กิ่ง’ ว่าด้วย 5 เรื่องราวของนวัตกรรมห้องสมุดที่น่าสนใจ ที่สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาบริการห้องสมุดให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ต้นไม้กิ่งที่ 1 : บริการตามคำขอ (Book Delivery and On-demand services)

สืบเนื่องจากการที่กิจการต่างๆ รวมถึงห้องสมุด ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน กอปรกับความต้องการของผู้ใช้บริการที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการระดมสมองหารือเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้ห้องสมุดยังสามารถให้บริการผู้ใช้ได้เฉกเช่นช่วงสถานการณ์ปกติ

‘บริการตามคำขอ’ จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้บริการในลักษณะนิวนอร์มอล ด้วยเทคโนโลยีที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วอย่างอุปกรณ์สื่อสารและโซเชียลมีเดีย เป็นบริการที่จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา โดยการให้บริการรับเรื่องจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์บริการ โทรศัพท์ อีเมล หรือ โซเชียลมีเดีย (Facebook, Instant Messenger) โดยเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ที่พร้อมให้บริการด้วย Service-mind ในการช่วยค้นคว้า แก้ปัญหาทางเทคนิค หรือแม้กระทั่งบริการส่งหนังสือ (Book Delivery) ที่ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติในช่วงที่มีการประกาศล็อคดาวน์และปิดห้องสมุด

ผลจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการดังกล่าว สามารถครองใจและตอบสนองผู้ใช้บริการได้อย่างดี ทำให้มีสถิติการใช้งานทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าช่วงสถานการณ์ปกติเลย และหลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไป ทางห้องสมุดได้เล็งเห็นประโยชน์ในการนำบริการนี้มาพัฒนาและให้บริการต่อ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และสะดวกสบายต่อทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ

ต้นไม้กิ่งที่ 2 : Library of Things

แนวคิด Library of Things เริ่มจากความคิดง่ายๆ จากความต้องการของนักศึกษา ที่เราได้สอบถามว่า “อยากยืมอะไรได้ในห้องสมุดบ้าง?” ต้นไม้กิ่งที่ 2 จึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการให้บริการอุปกรณ์ทั่วไป จนไปถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เช่น การให้บริการเครื่อง VR เทคโนโลยีที่จะพาผู้ใช้ไปสู่โลกเสมือนได้สมจริง ผ่านเกมส์ Simulator ต่างๆ หรือ กล้อง Go Pro ที่สามารถถ่ายได้ทั้งภาพและวิดีโอ รวมไปถึงให้บริการอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายคลิปวิดีโอ อุปกรณ์เหล่านี้นักศึกษาสามารถยืมไปใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผลปรากฏว่า นักศึกษาที่ได้เข้ามาสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ให้บริการ ต่างให้ความสนใจ จนเกิดเป็นบริการห้องสมุดรูปแบบใหม่ที่ฉีกภาพเดิมว่าห้องสมุดจะต้องมีแต่หนังสือ ที่สำคัญคือการมีอุปกรณ์เหล่านี้ให้ยืมใช้ ยังเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจของนักศึกษาที่กำลังหาซื้ออุปกรณ์มาใช้ โดยได้ทดลองใช้ก่อน เพื่อเลี่ยงปัญหาการซื้ออุปกรณ์มาแล้วไม่ตรงตามความต้องการอีกด้วย

นอกจากอุปกรณ์ต่างๆแล้ว ทางห้องสมุดยังพร้อมให้บริการตู้ยืม-คืนหนังสืออัตโนมัติ ที่ลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็สามารถยืม-คืนหนังสือผ่านตู้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปรอเข้าแถวที่เคาน์เตอร์ยืม-คืน ทำให้เกิดรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น แต่หากผู้ใช้รู้สึกอยากพูดคุยหรือขอคำปรึกษากับพี่ๆ บรรณารักษ์ ก็สามารถเลือกใช้บริการที่เคาน์เตอร์ได้เช่นเดิม

ต้นไม้กิ่งที่ 3 : การพัฒนาเว็บไซต์ห้องสมุด http://library.utcc.ac.th

เกิดจากแนวคิดง่ายๆ ที่อยากให้เว็บไซต์ห้องสมุด เป็นเว็บไซต์หนึ่งในดวงใจของผู้ใช้บริการ ห้องสมุดจึงนำเอาบริการทุกอย่างของห้องสมุดมารวบรวมไว้ที่นี่ มีการพัฒนากล่องสืบค้นแบบ ‘One single search’ โดยกดสืบค้นเพียงครั้งเดียวสามารถได้ผลการสืบค้นจากทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทที่ห้องสมุดบอกรับไว้

สำหรับการแสดงผลของเว็บไซต์ มีการออกแบบให้นำเสนอบริการที่ถูกใช้งานบ่อยเอาไว้ตรงกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ เช่น การต่ออายุหนังสือ หรือบริการจองห้องค้นคว้า ในส่วนของการใช้งานฐานข้อมูลออนไลน์ ห้องสมุดจัดทำ Subject Guide เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ตามสาขาวิชา และเพิ่มรายการฐานข้อมูลที่เป็น Open Access เพื่อให้ผู้ใช้ได้มีทางเลือกในการสืบค้น

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของห้องสมุดได้จัดทำเครื่องมือช่วยเหลือนักวิจัย โดยให้บริการเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยเหลือนักวิจัยเอาไว้มากมาย เช่น ระบบตรวจสอบการคัดลอกวรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์ทางสถิติ SPSS สำหรับงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) อย่าง nVivo และให้บริการโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการจัดการกับรายการทางบรรณานุกรม Endnote

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสถานการณ์สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ห้องสมุดมีการปรับตัวด้วยการให้บริการแอปพลิเคชัน ZOOM PRO ให้กับอาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย เพื่อรองรับการจัดประชุม สัมมนา และการเรียนการสอนออนไลน์ ทั้งยังมีบริการสนทนาแบบ Instant messaging ที่คอยตอบคำถามและช่วยเหลือผู้ใช้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกพึงพอใจมาก

ต้นไม้กิ่งที่ 4 : บริการเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศแบบออนไลน์

ในเมื่อห้องสมุดเป็นผู้ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ การรับฟังความต้องการทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้บริการนับเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ห้องสมุดจึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมในการเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการเพื่อนำมาให้บริการในห้องสมุด โดยใช้เว็บไซต์สืบค้นของระบบห้องสมุดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการเสนอซื้อ ทำให้ผู้ใช้สามารถเสนอซื้อ รวมถึงติดตามกระบวนการจนกระทั่งหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศพร้อมให้บริการ

จากเดิมที่ต้องใช้วิธีการเขียนแบบฟอร์มลงบนกระดาษ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ ทำให้การเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และสามารถทำได้ตลอดปีการศึกษา ขณะเดียวกันก็ทำให้ห้องสมุดเต็มไปด้วยทรัพยากรสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง

ต้นไม้กิ่งที่ 5 : บริการพื้นที่การเรียนรู้ครบวงจร

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของห้องสมุด คือพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือ รวมถึงการทำกิจกรรมที่หลากหลาย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงมีความตั้งใจในการนำนวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามาให้บริการในพื้นที่ของห้องสมุดมากขึ้น ทำให้ห้องสมุดมิใช่พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ที่ผู้ใช้บริการจะต้องคิดถึง เมื่อมีเวลาว่าง หรือต้องการทำกิจกรรมต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักหอสมุดกลางจึงออกแบบและจัดสรรพื้นที่สำหรับบริการต่างๆ ไว้อย่างครบครัน ดังนี้

  1. IDE Learning Space พื้นที่ที่สามารถนั่งทำกิจกรรมโดยส่งเสียงดังได้ และยังนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในพื้นที่ได้ด้วย เหมาะสำหรับการติวสอบหรือทำงานกลุ่มที่ต้องใช้ระยะเวลานาน

2. Co-Working Space พื้นที่สำหรับนั่งทำกิจกรรมซึ่งต่างจากพื้นที่ IDE Learning Space ตรงที่มีการห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทาน

3. Idea Agora หรือที่นักศึกษามักเรียกกันเล่นๆว่า ‘ห้องหลุม’ เป็นห้องโถงขนาดกลางที่ไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ แต่มีเบาะสำหรับนั่งและหมอน Bean Bag ที่เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมที่ต้องการพื้นที่ใช้สอย

4. Study room หรือห้องทำงานกลุ่ม เป็นสถานที่ที่เน้นความเป็นส่วนตัว โดยจะให้บริการเป็นห้องประชุมกลุ่ม พร้อมทั้งเครื่องมืออำนวยความสะดวกอย่าง Smart TV และอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งหลาย สามารถใช้ประชุมหรือติวหนังสือได้อย่างสะดวก ทั้งยังใช้เป็นห้องรับชมภาพยนตร์ได้อีกด้วย

5. พื้นที่โซนเงียบ สำหรับผู้ที่ต้องการสมาธิในการทำงาน

6. Boardgame Corner มุมให้บริการบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา มีพื้นที่กว้างขวาง ใช้เสียงได้ เหมาะสำหรับผู้สนใจทดสอบไหวพริบ ประลองปัญญา และเรียนรู้ทักษะไปกับบอร์ดเกม

พื้นที่ทั้งหมดที่ว่ามา เกิดจากความพยายามตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ บางท่านต้องการความสงบ บางท่านต้องการใช้เสียง บางท่านต้องการนำอาหารเข้ามาด้วย บางท่านไม่อยากให้มีกลิ่นอาหาร หรือบางท่านต้องการความเป็นส่วนตัวถึงที่สุด การมีพื้นที่ลักษณะต่างๆ คอยรองรับ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกสรรพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองได้

จากการบริการที่หยิบยกมานำเสนอ จะเห็นว่านวัตกรรมได้นำพาห้องสมุดไปสู่ทิศทางใหม่ๆ แม้บางอย่างอาจเกิดจากวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่นวัตกรรมก็เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการในหลากหลายมิติ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างแนวคิดใหม่ๆ เพื่อต่อยอดต่อไปในอนาคต

แม้ตอนนี้จะมีตัวอย่างให้เห็นแค่ 5 กิ่งดังที่ไล่เรียงมา แต่เราเชื่อว่าต้นไม้ต้นนี้จะต้องเติบโตต่อไป และแผ่กิ่งก้านใหม่ๆ ออกมาอย่างแน่นอน เพราะห้องสมุดรวมถึงตัวบรรณารักษ์เอง ต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ห้องสมุดยังคงเป็นสถานที่ที่อยู่ในใจของผู้ใช้ได้ตลอดไป

อ้างอิงจาก : https://www.thekommon.co/utcc-central-library/

@KM by Juthamas
@KM by Piyanat

            เมื่อต้องการประชุมกลุ่ม ต้องการฝึกซ้อมพรีเซ้นท์งาน ต้องการดูหนังพร้อมกันหลายคน เดินทางมามหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้าแต่มีเรียนช่วงบ่ายอย่างเดียว จะไปไหนที่ไหนดี … สถานที่ที่สามารถใช้เสียงได้แต่ก็ยังคงความเป็นส่วนตัวอยู่ เราขอแนะนำ “Study room” ของสำนักหอสมุดกลาง อาคาร 24 ชั้น 5 ที่เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ห้องที่สามารถตอบโจทย์นักศึกษาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรียน ทั้งเล่น

            เพื่อแก้ปัญหาการต้องเดินทางมาที่เคาน์เตอร์เพื่อจองใช้ห้องและตรวจสอบตารางการใช้งาน สำนักหอสมุดกลางจัดทำเว็บไซต์ http://studyroom.utcc.ac.th/ ให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการจองแบบออนไลน์จากทุกที่และ ตรวจสอบตารางการใช้งานของห้องได้ตลอดเวลา ผ่าน UTCC ID ด้วยขั้นตอนไม่กี่ขั้น ท่านก็สามารถใช้งานห้องค้นคว้าพร้อมทั้งครุภัณฑ์และอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ครบครันได้ในทันที … ทั้งสะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย เชิญใช้บริการ “Study Room”

@KM by Juthamas

            เทคโนโลยีในโลกของเราพัฒนาไปได้เร็วมาก ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีทำให้เรามองหน้ากันน้อยลง มองจอมากขึ้น การเล่นบอร์ดเกมเป็นกิจกรรมที่ดีที่ทำให้เราใช้เวลาร่วมกัน พูดคุยกัน ระดมสมองกัน มีปฏิสัมพันธ์กันและทำให้เรามองหน้ากันมากขึ้น แนวคิดการนำบอร์ดเกม เข้าสู่การให้บริการของห้องสมุด จึงริเริ่มขึ้น

            บอร์ดเกมคืออะไร? บอร์ดเกมคือ เกมประเภทหนึ่งที่ใช้อุปกรณ์และกฎกติกาแตกต่างกันไปตามแต่ละเกม มาเล่นบนกระดานที่ออกแบบมาเพื่อบอร์ดเกมนั้นๆ ซึ่งบอร์ดเกมถูกแบ่งหมวดหมู่ได้ตามรูปแบบของกติกา ไม่ว่าจะเป็นเกมครอบครัว มีวิธีเล่นเรียบง่ายเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย สามารถร่วมเล่นด้วยกันได้ เน้นเสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มผู้เล่น เกมวางแผน มีวิธีการเล่นซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องใช้ความคิด การคำนวณ และหลักการเหตุและผลในการเล่น เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการฝึกสมองประลองปัญญาและการท้าทาย เกมปาร์ตี้ เป็นเกมที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก รวมถึงการใช้ไหวพริบ และมีกติกาที่มีสีสันที่โดดเด่นหรือแปลกแหวกแนวที่สุด ส่วนมากเกมประเภทนี้จะมีความนิยมสูง นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมายังมีบอร์ดเกมรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย ที่เกิดจากการผสมผสานและพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด

และการนำบอร์ดเกมมาให้บริการในห้องสมุดล่ะ? อย่างที่ทราบกันดีว่าห้องสมุดมีภาพลักษณ์เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ ทบทวนบทเรียนและหาความรู้เพิ่มเติม จะต้องงดใช้เสียงและต้องระมัดระวังในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่สำหรับห้องสมุดสมัยใหม่ โดยเฉพาะสำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกแบบนโยบายรองรับการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแต่ในตำรา แต่เป็นการเรียนรู้ควบคู่กับการทำกิจกรรม จึงจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้ใช้บริการที่ สามารถใช้เสียงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และในการประชุมหรือทำกิจกรรมร่วมกันได้ เอื้อประโยชน์อำนวยความสะดวกให้สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไรขีดจำกัด และบอร์ดเกมก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ได้รับความนิยมและคำติชมมากมายมาร่วมพัฒนาต่อยอดบริการการส่งเสริมการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

            ในส่วนของวิธีทำ ทางห้องสมุดใช้พื้นที่ที่จัดสรรนี้เปิดให้บริการ พร้อมวางกลยุทธ์สร้างกฎกติกาเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ดังเช่น การประสานบรรณารักษ์แผนกวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญในการลงรายการบอร์ดเกมเข้าระบบ เพื่อระบุหมายเลขของบอร์ดเกมแต่ละรายการ นำหมายเลขเหล่านั้นมาจัดทำการ์ดสำหรับสแกนบาร์โค้ด เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถยืม-คืนบอร์ดเกมเข้าระบบ ป้องกันการสูญหายและเพื่อให้เกิดนิสัยความรับผิดชอบต่ออุปกรณ์ที่เช่ายืมต่อผู้ใช้บริการ และการจัดทำการ์ด วิธีการเล่น โดยแนบ QR Code วิดิโอแนะนำวิธีการเล่นจาก Youtube Channel ต่างๆที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับสอนเล่นบอร์ดเกม เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเรียนรู้กฎกติกาเกมใหม่ๆที่ไม่เคยเล่นได้ด้วยตนเอง ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ทำให้การให้บริการบอร์ดเกมในห้องสมุด ดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นท่ามกลางคำชมและความนิยมของนักศึกษาผู้ใช้บริการทุกรุ่น เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์และทำให้เรามองหน้ากันมากขึ้น.

@KM by Piyanat

            สำนักหอสมุดกลาง เปิดบริการสั่งซื้อหนังสือ เพื่อพัฒนา Collection ที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงการสั่งซื้อตามต้องการ ที่ https://searchlib.utcc.ac.th/cgi-bin/koha/opac-suggestions.pl?op=add ลดการเดินทาง ประหยัดเวลา … ใช้บริการการสั่งซื้อทรัพยากรที่ห้องสมุด “Recommend a Purchase” สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งมีแจ้งผลการ Request Online ในทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางที่แจ้งในระบบ

            เพื่อต่อยอดการพัฒนา Collection ให้ตอบสนองกับการเรียนการสอนของคณะวิชา ทำให้เกิดโครงการสั่งซื้อทรัพยากรเข้าห้องสมุดได้หลากหลายช่องทาง ทั้ง “Recommend a Purchase” , การไปคัดเลือกหนังสือจากร้านค้า (โครงการหนังสือดีฯ) และการปรับเปลี่ยนในสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดทางเลือกใหม่เพิ่มเติมโดยการคัดเลือกทรัพยากรผ่าน Platform Online (URL and QR Code) เสมือนการเข้าเลือกซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ของร้านค้าต่างๆ … สะดวกและสบายกับ Submission Online.

@KM by Sansanee

            หนังสืออ้างอิง คือหนังสือที่ใช้ค้นคว้า หาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องอ่านตลอดทั้งเล่ม หนังสืออ้างอิงมีหลายประเภท ได้แก่ พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรมหรือทำเนียบนาม อักขรานุกรมชีวประวัติ หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ หนังสือคู่มือ หนังสือรายปี หนังสือบรรณานุกรม และหนังสือดรรชนี ห้องสมุดจัดเก็บและให้บริการหนังสืออ้างอิงแยกจากหนังสือทั่วไป ที่สันหนังสือจะมีสัญลักษณ์พิเศษแตกต่างจากหนังสือทั่วไป คือ หนังสืออ้างอิงภาษาไทย จะมีอักษร “อ” ซึ่งย่อมาจากคำว่า หนังสืออ้างอิง อยู่เหนือเลขเรียกหนังสือ ส่วนหนังสืออ้างอิงภาษาอังกฤษ จะมีอักษร “R” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Reference books อยู่เหนือเลขเรียกหนังสือ และมักจะให้ใช้ภายในห้องสมุดเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ยืมออกนอกห้องสมุด

            การจะเลือกใช้หนังสืออ้างอิงประเภทไหนนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องที่ต้องการสืบค้นว่าต้องการเรื่องอะไร แล้วจึงเลือกประเภทหนังสืออ้างอิงที่คาดว่าจะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการนั้น เช่น ต้องการความรู้เกี่ยวกับคำ ความหมายของคำ ชนิดของคำ ตัวสะกด การันต์ การอ่านออกเสียง หรือ การใช้คำที่ถูกต้อง หนังสืออ้างอิงที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็คือ พจนานุกรม หรือถ้าต้องการเนื้อเรื่อง คำบางคำที่ต้องการทราบ ประวัติความเป็นมาของประเทศต่าง ๆ ประวัติบุคคลสำคัญ หรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หนังสืออ้างอิงที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ คือ สารานุกรม เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม หนังสืออ้างอิงฉบับตีพิมพ์ในยุคปัจจุบัน มักพบว่ามีการใช้ลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพจนานุกรมและสารานุกรม อาจเนื่องมาจากปัจจุบันมีแหล่งความรู้แหล่งอื่นๆ ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์มากกว่าหรือมีเครือข่ายออนไลน์ที่สะดวกในการใช้งานมาทดแทน เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ปัจจุบันสามารถสืบค้นได้ทางออนไลน์ (ที่ : https://dictionary.orst.go.th/ ) หรือเมื่อต้องการค้นหาข้อมูลความรู้ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ก็สามารถสืบค้นได้จาก วิกิพีเดีย (Wikipedia) (ที่ : https://th.wikipedia.org/ )ซึ่งเป็นสารานุกรมเสรี หลายภาษาบนอินเทอร์เน็ต ที่ทุกคนสามารถอ่านและปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาได้ โดยคำว่า “Wikipedia” เป็นคำที่ผสมผสานระหว่างคำว่า “wiki” ที่เป็นลักษณะการสร้างเว็บไซต์แบบมีส่วนร่วม (คำในภาษาฮาวาย แปลว่า ‘เร็ว’) และคำว่า “pedia” ซึ่งมาจากคำว่า “encyclopedia” ที่แปลว่าสารานุกรม ทำให้ตอนนี้ Wikipedia กลายเป็นสารานุกรมเสรีที่ใหญ่ที่สุดและมีคนเข้าถึงมากที่สุดในโลก โดยคนที่เข้ามาเขียน แก้ไขและตรวจสอบล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงในเอกสารทางวิชาการยังคงเป็นข้อถกเถียง เนื่องจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนแก้ไข ซึ่งง่ายต่อการปรับเปลี่ยนข้อมูลทุกเมื่อ ดังนั้นการ

ที่มา : https://thematter.co/thinkers/wikipedia-reliability-and-reader-duty/149253

@KM by Ubolpan

            สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีบริการหนังสือด่วนเป็นบริการพิเศษในกรณีที่ผู้ใช้บริการค้นหาหนังสือในฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติและปรากฏว่าหนังสืออยู่ในสถานะ In cataloging ผู้ใช้สามารถติดต่อเคาน์เตอร์บริการยืมคืนเพื่อประสานงานกับแผนกวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ให้ดำเนินการวิเคราะห์ฯหมวดหมู่และลงรายการให้อย่างเร่งด่วนภายใน 1 วัน

            หรือผู้ใช้บริการต้องการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีในห้องสมุด แผนกวิเคราะห์ฯสามารถประสานงานกับแผนกพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ จัดหาเข้ามาให้บริการ หรือผู้ใช้บริการสามารถขอได้โดยตรงที่ Web site https://library.utcc.ac.th/ ของห้องสมุดและเลือก Servicesเพื่อเลือก Recommend a Purchase (Login Required) เพื่อ Login และ Password(ชื่อผู้ขอรับบริการ) จะปรากฎหน้า Enter a new purchase suggestion เพื่อให้กรอกรายชื่อหนังสือ, ชื่อผู้แต่ง,ปีที่พิมพ์, จำนวนฉบับ และนัดให้ผู้ใช้บริการทราบว่าประมาณ 1 สัปดาห์หรือให้ติดตามผลทาง E-Mail

@KM by Siranya

            การสืบค้นบทความวารสารจากเครื่องมือสืบค้น UTCC Library (https://library.utcc.ac.th) สามารถสืบค้นได้ทั้งบทความวารสารฉบับพิมพ์ที่มีตัวเล่มวารสารให้บริการ ในสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทความวารสารภาษาไทยและบทความวารสารอิเล็กทรอนิกส์

            กรณีสืบค้นแล้วไม่มีบทความวารสารที่ต้องการในระบบของห้องสมุด สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่กล่อง UTCC & Friends เป็นเครื่องมือสืบค้นข้อมูลเพียงใส่คำค้นเพียงครั้งเดียว (OneSearch) ได้ทรัพยากรสารสนเทศจากระบบห้องสมุด ฐานข้อมูลออนไลน์ที่ห้องสมุดบอกรับ ยกตัวอย่างเช่น Business Source Ultimate, Communication & Mass Media Complete, EconLit with Fulltext, Taylor & Francis Online และฐานข้อมูล Open Access เช่น DOAJ, ThaiJO รวมถึงทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ทีเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งดังนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยสยาม, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังสามารถสืบค้นบทความวารสารได้จากฐานข้อมูลที่เว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลางโดยตรง เลือก e-Resources (Database A-Z) เช่น

  • ฐานข้อมูล Business Source Ultimate เป็นวารสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจชั้นนำของโลก
  • ฐานข้อมูล Taylor & Francis Online เป็นฐานข้อมูลจากสำนักพิมพ์ Taylor & Francis ครอบคลุมวารสารวิชาการทุก สาขาวิชา ให้ข้อมูลวารสารฉบับเต็มตั้งแต่ปีพิมพ์ 1997 – ปัจจุบัน
  • ฐานข้อมูล SpringerLink (On Demand) เป็นฐานข้อมูลวารสารออนไลน์ของสำนักพิมพ์ SpringerLink ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ชั้นนำที่ให้ บริการเนื้อหาในสาขาวิชาหลักๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทางการแพทย์ รวมถึงสาขาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

@ KM by Nusa
@ KM by Panida

            ดรรชนีวารสาร เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการค้นหาบทความจากวารสารเรื่องใด ปีที่ ฉบับที่ วัน เดือน ปี และเลขหน้าใด ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงบทความได้ตามความต้องการทั้งวารสารที่เป็นแบบตัวเล่มและฉบับออนไลน์ผ่านทางฐานข้อมูลในระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

หลักเกณฑ์การเลือกบทความเพื่อทำดรรชนีวารสาร
• มีคุณค่าทางวิชาการ
• เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องตรงกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
• เป็นเรื่องที่น่าสนใจ หรืออยู่ในความสนใจของผู้ใช้บริการ
• เป็นเรื่องที่ทันสมัย
• เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาหายาก
• เนื้อหาถูกต้องครบถ้วน ใช้ภาษาที่เหมาะสม
• ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะหรือวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญ
• เป็นรายงานผลการวิจัย หรือรายงานทางสถิติที่มีบทวิเคราะห์
บรรณารักษ์ที่ลงรายการฯจะต้องพิจารณาเนื้อหาบทความและลงรายการให้ถูกต้องตามโครงสร้างมาตรฐานการลงรายการระเบียนบรรณานุกรมรูปแบบ MARC 21 และหลักเกณฑ์การลงรายการบรรณานุกรมแบบ AACR2 ซี่งเป็นมาตรฐานสากล

ที่มา : https://lisclassroomonline.files.wordpress.com/2016/05/periodicals-and-serial-publications7.pdf

@KM by Pensapak

            เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19
(Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลกและมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม จากเหตุผลดังกล่าวสำนักหอสมุดกลางให้ความสำคัญต่อสังคมในช่วงนี้ จึงได้มีการเตรียมพร้อมเชิงนโยบายต่อสถานที่ บุคลากร การจัดกิจกรรม หรือการรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการหมุนเวียนเข้าออกอยู่ตลอดและหลากหลาย รวมไปถึงมีพื้นที่นั่งอ่าน ดังนั้นห้องสมุดจึงมีความคิดปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เป็นแนวทางที่หลาย ๆ คนจะต้องปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรม ในช่วงไวรัสระบาดแล้วเปลี่ยนชีวิตเราไปอีกนาน

            สำนักหอสมุดกลาง จึงขอความร่วมมือผู้ใช้บริการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรคและฉีดพ่นแอลกอฮอล์ที่ทางสำนักหอสมุดกลางได้จัดเตรียมไว้ ภายในห้องสมุดของเรามีพื้นที่ให้บริการนั่งเว้นระยะห่าง โดยมี ฉากอะคริลิคกั้นนั่งเฉพาะส่วนบุคคล เพื่อป้องกันโควิด -19 ภายในห้องสมุดของเรามีการป้องกันความปลอดภัยโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด มี รปภ.แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่ สำนักหอสมุดกลาง เดินตรวจความเรียบร้อยอยู่เป็นระยะ เมื่อผู้ใช้บริการมีปัญหาการใช้ภายในห้องสมุด เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ ระบบไฟมีปัญหา และปัญหาอื่น ๆ สามารถแจ้งเรื่องได้ที่ เคาน์เตอร์บริการ ชั้น 5 และ ชั้น 7 ห้องสมุดมีให้บริการเครื่องทำน้ำดื่ม ร้อน -เย็น และขอให้ผู้บริการนำแก้วมาด้วยตนเองเพื่อเป็นการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมได้ระยะหนึ่งแล้ว

            จึงมีการพัฒนาต่อยอดการให้บริการรูปแบบดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการให้บริการ โดยมีการให้บริการเครื่องยืมทรัพยากรสารสนเทศอัตโนมัติ บริเวรอาคาร 24 ชั้น 4 หรือแม้แต่การให้บริการตู้รับคืนหนังสือตามจุดต่างๆทั่วมกาวิทยาลัยเพื่อลดการเสี่ยงการติดเชื้อ และอีก 1 บริการสำนักหอสมุดกลางมีการเพิ่มจุด Scan QR Code แจ้งปัญหาการใช้พื้นที่ภายในสำนักหอสมุดกลางและ จุด Scan QR Code แจ้งปัญหาการใช้อุปกรณ์ไอทีที่สำนักหอสมุดกลางมีให้บริการ โดยมีเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการเชิงรุก SCAN ปุดไม่เกิน 10 นาที จะมีเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการคอย Support ถึงจุดที่แจ้งทันที

@KM by Pisamai 
@KM by Sudarat
@KM by Thanawat

บริการยืมระหว่างห้องสมุด/สถาบัน หรือ Inter Library Loan (ILL) เป็นบริการอย่างหนึ่งของห้องสมุดซึ่งจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการยืมทรัพยากรสารสนเทศ จากห้องสมุดอื่นๆ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือที่มีชื่อว่า EDS-THAIPUL ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อตกลงต่างระหว่างสถาบันห้องสมุดที่ทำร่วมกัน เป็นการแบ่งปันและใช้ข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน (Resources sharing) โดยปัจจุบันมีความร่วมมือของห้องสมุดจาก 13 สถาบัน

ความสำคัญของเครือข่ายความร่วมมือบริการยืมระหว่างห้องสมุด เนื่องจากห้องสมุดอาจจะมีข้อจำกัดในด้านทรัพยากรสารสนเทศที่ไม่สามารถให้บริการผู้ใช้ได้อย่างครบถ้วน จึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศกับห้องสมุดอื่นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้หลากหลายมาก เพื่อให้ทรัพยากรสารสนเทศเกิดประโยชน์ เกิดการใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ได้มากที่สุด ขั้นตอนการขอใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด ประกอบไปด้วย
1.เข้าเว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย https://library.utcc.ac.th
2.ที่กล่องสืบค้น เลือกแถบเมนู UTCC & Friends ใส่คำค้นในช่องว่าง จากนั้นคลิกปุ่ม Search
3.ปรากฏผลการค้น ให้ตรวจสอบว่าหนังสือมีให้บริการที่ห้องสมุดใดโดยดูจาก ชื่อห้องสมุด
4.หากต้องการยืมระหว่างห้องสมุด ให้คลิกที่ Inter library loan Request
5.กรอกข้อมูลที่กำหนดให้ครบถ้วน จากนั้นคลิก ตกลง
6.เมื่อห้องสมุดได้รับตัวเล่มแล้ว จะส่ง e-mail แจ้งให้ผู้ใช้มารับหนังสือที่ห้องสมุด

@KM by Panadda

            สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของผู้ใช้บริการที่ทำการยืมหนังสือออกไปจากห้องสมุดแล้ว และมีความประสงค์จะทำการคืน โดยเฉพาะต้องการคืนในช่วงเวลาที่ห้องสมุดปิดทำการด้วยเหตุผลของผู้ใช้ต่างกัน อาทิเช่น ฝนตก รถติด มีธุระ ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถเดินทางนำหนังสือมาคืนให้ทันตามเวลาที่กำหนดได้ โดยทางสำนักฯ ได้ทำการจัดวางตู้รับคืนหนังสือนอกเวลาไว้ตามจุดต่าง ๆ ด้วยกันรวมทั้งสิ้น 5 จุดคือ จุดที่ 1 ตู้รับคืนใต้อาคาร 3 จุดที่ 2 ตู้รับคืนใต้อาคาร 5 จุดที่ 3 ใต้อาคาร 21 จุดที่ 4 ตู้รับคืนใต้อาคาร 24 (ตึกอาคารสัญลักษณ์เรือใบ) และจุดที่ 5 ตู้รับคืนอาคาร 24 ชั้น 7 ขั้นตอนและวิธีการส่งคืนในตู้คือ ผู้ใช้สามารถนำหนังสือที่ต้องการคืนหย่อนลงในช่องคืนได้ครั้งละ 1 เล่ม (หย่อนช้า ๆ ไม่ต้องรีบทำให้หนังสือที่คืนช้ำและชำรุดได้) ขอสงวนไม่รับคืนหนังสือที่ชำรุดเสียหายหย่อนลงในตู้เด็ดขาด เช่น ปกขาดรุ่งริ่ง เปียกน้ำ เป็นต้น เมื่อทำการคืนหนังสือเรียบร้อยจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักหอสมุดมาทำการไขตู้ในเวลาต่อไป โดยจะทำการไขตู้ในเวลา 15.00 น. ของทุกวัน หากมีค่าปรับผู้ใช้บริการสามารถมาติดต่อชำระเงินได้ที่เคาเตอร์แผนกบริการยืม – คืนอาคาร 24 ชั้น 7 หลังการคืน ผู้ใช้ยังสามารถตรวจสอบรายการคงเหลือที่ยืมไปได้ที่ https://library.utcc.ac.th/book-renewal-online อีกช่องทางหนึ่งได้

            การต่อยอดในการคืนหนังสือที่ตู้รับคืนหนังสือนอกเวลา กระทำได้อีกวิธีหนึ่ง โดยมีตู้รับคืนอัตโนมัติแบบเคลื่อนย้ายไปตามจุดต่างได้ สามารถรับคืนหนังสือได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ขณะห้องสมุดปิดทำการ เครื่องนี้ไม่ต้องอ่านบัตรสมาชิกของผู้คืน มีระบบการทำงานที่มีภาพเคลื่อนไหวแสดงวิธีการใช้งานให้ผู้คืนหนังสือทำตามได้โดยง่าย และยังสามารถบันทึกภาพผู้คืนในขณะที่ทำการคืน ระบบจะระบุ รหัสสมาชิก เวลา วันที่และปี เพื่อเก็บไว้ตรวจสอบและเรียกดูได้ในภายหลัง ในขณะเดียวกันเครื่องสามารถพิมพ์ใบบันทึกรายการหนังสือที่คืน โดยที่ผู้คืนสามารถเลือกที่จะพิมพ์หรือไม่พิมพ์ใบบันทึกได้ตามความต้องการของผู้คืน

@ KM by Patsawat

1.เข้าสู่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย www.utcc.ac.th
2.คลิกที่นักศึกษาปัจจุบัน หรือ บุคลากร ตามสถานภาพของท่าน
3.คลิกสำนักหอสมุดกลาง หรือสามารถเข้าสู่เว็บไซต์การสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศได้โดยตรงที่ searchlib.utcc.ac.th
4.ใส่คำค้นที่ต้องการในช่องสืบค้น
4.1 จดเลขหมู่ที่ได้จากผลการค้นและตรวจสอบสถานที่จัดเก็บและสถานะของทรัพยากรสารสนเทศ
4.2 หยิบหนังสือที่ต้องการจากชั้นและนำมายืมที่เคานเตอร์ยืม-คืน

เพื่อต่อยอดการยืมทรัพยากรสารสนเทศ โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางมาที่ห้องสมุด สามารถอำนวยความสะดวกโดยสำนักหอสมุดกลางจัดบริการส่งหนังสือให้ทางไปรษณีย์ เมื่อผู้ใช้บริการสืบค้นตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว สามารถติดต่อพร้อมแจ้งรายละเอียดของหนังสือที่ต้องการยืม พร้อมที่อยู่สำหรับจัดส่ง ทาง Facebook Messenger หรือ Email : [email protected] ทางเจ้าหน้าที่จะจัดส่งตัวเล่มไปทางไปรษณีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือ Delivery ไปยังห้องทำงานสำหรับอาจารย์และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้
@ KM by Pakawadee

อัตราค่าปรับในกรณีที่ส่งคืนทรัพยากรสารสนเทศเกินกำหนด

  • หนังสือทั่วไป ค่าปรับเล่มละ 5 บาท/วัน
  • วิทยานิพนธ์,งานวิจัย ค่าปรับเล่มละ 20 บาท/วัน
  • CD,DVD ค่าปรับรายการละ 10 บาท/วัน
    หนังสือที่ผู้ใช้ยืมไปเกินกำหนดส่งผู้ใช้บริการจะต้องนำหนังสือมาต่ออายุการยืมที่เคานเตอร์บริการยืม-คืน พร้อมชำระค่าปรับที่เกินกำหนดส่ง ถ้าไม่นำหนังสือที่เกินกำหนดมาคืนจะไม่สามารถยืมหนังสือเล่มต่อไปได้ หากผู้ใช้บริการไม่สะดวกนำหนังสือมาคืนด้วยตัวเอง สามารถส่งหนังสือคืนทางไปรษณีย์ได้เพราะถ้าไม่ส่งหนังสือคืนค่าปรับก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะนำหนังสือมาคืน
    เพื่ออำนวยความสะดวกและลดปัญหาการเดินทางมาห้องสมุด ทางสำนักหอสมุดกลางอาจจะมีนโยบายให้ผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์ต้องการจ่ายค่าปรับหนังสือที่เกินกำหนดสามารถชำระผ่านทางออนไลน์ที่ทางสำนักหอสมุดกลางเปิดให้ในอนาคต
    @ KM by Aree

การตรวจสภาพหนังสือหรือสื่อสารสนเทศอื่นก่อนที่จะยืมออกจากห้องสมุด มีความจำเป็นมากเพราะถ้ายืมออกจากห้องสมุดไปแล้ว เวลานำหนังสือหรือสื่อสารสนเทศใดๆ มาคืนแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการชำรุดเสียหาย เช่น มีการขีดเขียน ขีดเน้นข้อความ ฉีกขาด เปียกน้ำ ผิดรูปไปจากเดิม อาการเหล่านี้ถือว่าเกิดความเสียหาย ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบต่อค่าเสียหายที่เกิด ซึ่งก็จะเกิดปัญหาขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการ
โครงการต่อยอดคือเปิดทำ Workshop การซ่อมแซมและบำรุงรักษาหนังสือด้วยตนเองเบื้องต้น ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปและนักศึกษา วัตถุประสงค์ ต้องการให้ผู้ที่รักและหวงแหนหนังสือที่ตนเองซื้อมาหรือที่มีอยู่ ได้มีสภาพที่แข็งแรง ทนทานและน่าหยิบมาอ่านได้ตลอดเวลา และให้ผู้ที่สนใจที่เข้าอบรมทำการซ่อมแซมและรักษาสภาพหนังสือได้ด้วยตนเองทุกคน
@ KM by Chalong

สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการจำนวนมาก ในส่วนของอาคาร 24 ชั้น 6 เป็นการให้บริการวารสาร/นิตยสารฉบับปัจจุบัน ฉบับล่วงเวลาภาษาไทย และภาษาต่างประเทศให้บริการแบบชั้นเปิด ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้ได้ด้วยตนเอง โดยมีการจัดเรียงตามตัวอักษรของชื่อวารสาร ก – ฮ , A – Z และ เดือน ปี จากปีเก่าสุด ไปปีล่าสุด
ขั้นตอนการค้นหาตัวเล่มวารสารบนชั้น

  1. การเตรียมตัวก่อนการค้นหา
    ผู้ใช้บริการ จะต้องทราบว่าต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวารสารเรื่องใด และต้องมีข้อมูลประกอบในการค้นหา เช่น ชื่อวารสาร ชื่อผู้แต่ง หากไม่รู้ชื่อผู้แต่ง ชื่อวารสาร ควรกำหนดคำค้นหรือหัวเรื่อง ที่จะใช้สำหรับการสืบค้น
  2. การเข้าสู่หน้าจอการสืบค้น
    ทำด้วยวิธีการเดียวกับ การสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ ผ่าน Web OPAC สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในระบบจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อวารสาร, สถานที่จัดเก็บ (Location) และสถานภาพของทรัพยากรสารสนเทศ (Status) ขั้นตอนการสืบค้นหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ เข้าใช้งานที่เว็บไซต์
  3. วิธีการค้นหาตัวเล่มวารสาร
    สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเก็บตัวเล่มวารสารแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
    3.1 วารสารฉบับใหม่ (Current Issue)
    3.2 วารสารฉบับล่วงเวลา (Back Issue)
    3.3 วารสารเย็บเล่ม (Bound)
    แต่ละประเภทจัดเรียงบนชั้นตามลำดับอักษรของชื่อวารสาร ดังนั้น เมื่อตรวจสอบรายชื่อวารสารแล้วพบว่า วารสารนั้นมีบริการในห้องสมุด ให้ตรวจ สอบว่าวารสารฉบับที่ต้องการเป็นวารสารประเภทใดก่อนที่จะไปค้นหาที่ชั้นวารสารค้นหา เป็นต้น

    @KM by Arunnee

มาทำความรู้จักวิธีการยืมและคืนทรัพยากรสารสนเทศของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้วไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร วันนี้มี 3 ขั้นตอนง่ายๆ เท่านั้น
1.นำทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการยืม-คืน พร้อมด้วยบัตรประจำตัว/ อาจารย์/ เจ้าหน้าที่/ นักศึกษา ยื่นให้เจ้าหน้าที่ ณ
เคานเตอร์บริการยืม-คืน อาคาร 24 ชั้น 7
2.เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกการยืม-คืน ทรัพยากรสารสนเทศ
3.เจ้าหน้าที่ยื่นสลิปการยืม-คืนให้กับผู้ใช้บริการเก็บไว้เป็นหลักฐาน
เพียง 3 ขั้นตอน ง่ายๆ เท่านั้นก็สามารถยืม-คืน ทรัพยากรสารสนเทศได้แล้ว
นอกจากนี้สำนักหอสมุดกลางยังอำนวยความสะดวกและเป็นการต่อยอดการบริการ ยืม – คืน ด้วยตนเองได้ที่เครื่องยืม – คืน อัตโนมัติ อาคาร 24 ชั้น 7 สำนักหอสมุดกลาง

วิธีการยืมหนังสือด้วยระบบอัตโนมัติ (Self Check)

  • สแกนบัตรอาจารย์ / เจ้าหน้าที่ / นักศึกษา ฯลฯ
  • เลือกทำการยืม โดยกดยืม
  • วางหนังสือบนแท่นหรือวางใกล้กับเครื่องยืม – คืน อัตโนมัติ
  • รอรับ Slip รายการยืม เก็บไว้เป็นหลักฐาน

@KM by Kanokwan